ครม.อนุมัติฟอนต์พระราชทาน “จุฬาภรณ์ลิขิต” เป็นชุดแบบอักษรมาตรฐานราชการไทย

 8 ก.ค. 2564 / อภิรักษ์ อุ่นดี / 4150

มติคณะรัฐมนตรี อนุมัติฟอนต์พระราชทาน “จุฬาภรณ์ลิขิต” เป็นชุดแบบอักษรมาตรฐานราชการไทย แบบที่ 14 เพิ่มเข้าไปในระบบปฏิบัติการ Thai OS และให้ถือเป็นมาตรฐานของหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วย ภายในปี พ.ศ. 2564

(6 กรกฎาคม 2564) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ชุดแบบอักษรพระราชทาน “จุฬาภรณ์ลิขิต” เป็นชุดแบบอักษรมาตรฐานราชการไทย แบบที่ 14 ตามที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เสนอ เพื่อเป็นการจารึกพระนามและเนื่องในวโรกาสครบรอบ 64 พรรษา ของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และในวโรกาสที่ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ ตลอดจนเผยแผ่พระเกียรติคุณและพระมหากรุณาธิคุณในฐานะเจ้าหญิงของปวงประชา และองค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์อย่างกว้างไกลและยิ่งยืนนาน และเผยแพร่ต่อประชาชนชาวไทย และใช้ในราชการ รวมถึงผู้คนทั่วโลก สามารถนำชุดแบบอักษรไปใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดภาษาและตัวอักษรไทยรวมถึงเป็นการจารึกพระนามขององค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์บนโลกดิจิทัล

ชุดแบบอักษรพระราชทาน “จุฬาภรณ์ลิขิต” ได้รับการออกแบบให้มีความคล้ายคลึงกับยอดอ่อนของดอกกล้วยไม้พันธุ์ Phalaenopsis Princess Chulabhorn เพื่อเผยแผ่เกียรติคุณและรางวัลระดับนานาชาติ ซึ่งศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงได้รับอันเกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยตัวอักษรไทยซึ่งมีโครงสร้างถูกต้องตามมาตรฐานโดยมีลักษณะเป็นตัว มีหัว มีปาก มีส่วนประกอบถูกต้องตามอักขรวิธี ไม่มีการประดับลวดลาย รายละเอียดมากจนเกินไป สามารถนำไปใช้ได้หลากหลายลักษณะ จึงเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในราชการ

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานดำเนินการติดตั้งชุดแบบอักษรพระราชทาน “จุฬาภรณ์ลิขิต” เป็นชุดแบบอักษรมาตรฐานราชการไทย แบบที่ 14 เพิ่มเข้าไปในระบบปฏิบัติการ Thai OS และให้ถือเป็นมาตรฐานของหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วย ภายในปี พ.ศ. 2564

ดาวน์โหลดฟอนต์ที่นี่

เปิด-ปิด messenger การเดินทางด้วย Google Map ติดต่อเกี่ยวกับไอทีและหอสมุดกลาง